ลงทุนทองคำ, เรียนการลงทุน, ศึกษาการลงทุน Gold futures
 เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก  

ข้อมูลข่าวสาร

การผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน  

   นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย  เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 เกี่ยวกับการดำเนินมาตรการผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อให้นิติบุคคลและบุคคลไทยสามารถไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยกระทรวงการคลังจะออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง คำสั่งรัฐมนตรีให้ไว้แก่บุคคลรับอนุญาต (ฉบับที่ 8) และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ฉบับที่ 4) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้เป็น   5  มาตรการ ดังนี้  

1.  ผ่อนคลายให้นิติบุคคลลงทุนหรือให้กู้ยืมแก่กิจการในเครือได้ไม่จำกัดจำนวน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินกำหนด

2. อนุญาตให้นิติบุคคลให้กู้ยืมแก่กิจการที่ไม่ใช่กิจการในเครือได้เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกินปีละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

3. เพิ่มวงเงินที่บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลในประเทศประสงค์จะโอนเงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนหรือที่พักอาศัยจากไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อรายต่อปี เป็นไม่เกิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ต่อรายต่อปี

4. เพื่อให้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดามีความคล่องตัวในการซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากไว้กับสถาบันการเงินในประเทศ ในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit) จึงผ่อนคลายให้  ในกรณีที่ไม่มีภาระผูกพัน ให้มียอดคงค้างในบัญชีไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่เจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินกำหนด

5.  ขยายวงเงินค่าสินค้าส่งออกที่ไม่ต้องนำเงินเข้าประเทศจาก 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ เป็น 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ หลังจากที่กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลังทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวแล้ว

ธปท. ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินจะได้พิจารณาผ่อนคลายหลักเกณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศอื่น ๆ ได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

การผ่อนคลายระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างความสมดุลระหว่างเงินทุนไหลเข้าและเงินทุนไหลออกให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันต่อความผันผวนของค่าเงินบาทได้อีกทางหนึ่ง

สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
.................................................................................................................................................................................

ข่าว กลต. 

ฉบับที่ 89 / 2552

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม  2552  

ก.ล.ต.แจ้งธุรกิจ ซื้อขายทองคำผ่านช่องทางต่างๆ ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.     

 ในวันนี้ (29 ตุลาคม 2552) ก.ล.ต. ได้ประชุมหารือกับสมาคมค้าทองคำและชมรมค้าปลีกทองคำแห่งประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจซื้อขายทองคำผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งการซื้อขายที่ร้านทองและการสั่งซื้อขายทางโทรศัพท์หรือเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ (ออนไลน์) และอาจรับฝากทองคำไว้ในบางกรณี โดยที่การทำธุรกิจดังกล่าวมีการส่งมอบทองคำที่ซื้อขายกันจริงและมีการชำระค่าซื้อและค่าขายเต็มจำนวนโดยไม่มีการหักกลบค่าซื้อขายกัน  ก.ล.ต. จึงพิจารณาว่า การทำธุรกิจลักษณะดังกล่าวเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค และไม่เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจภายใต้พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546  จึงไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.  อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคและผู้ลงทุนที่สนใจซื้อขายทองคำไม่ว่าจะผ่านช่องทางใด จะต้องใช้วิจารณญาณและมีความรอบคอบ โดยต้องซื้อขายกับร้านทองที่น่าเชื่อถือเท่านั้น 

*อ้างอิงจาก  http://capital.sec.or.th/webapp/webnews/news.php?cboType=S&lg=th&news_no=89&news_yy=2552

    .........................................................................................................................................................................................

ฉบับที่ 10 / 2553

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 

ก.ล.ต. อนุญาตให้กองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินเพื่อการลงทุนได้  

คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 มีมติเห็นชอบในหลักการอนุญาตให้กองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่ไปลงทุนในต่างประเทศสามารถทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน หรือลงทุนในตราสารที่มีสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝงที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการลงทุนได้ จากเดิมที่สามารถทำได้เฉพาะเพื่อลดความเสี่ยง (hedging) ที่อาจเกิดจากการลงทุนเท่านั้น  ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย

การผ่อนคลายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่กองทุนในการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีตัวแปรเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเงิน และเปิดทางเลือกให้กับผู้ลงทุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การลงทุนที่เป็นมาตรฐานสากล 

ในด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน หลักเกณฑ์จะกำหนดให้กองทุนที่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อลดความเสี่ยง ต้องเปิดเผยความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้ชัดเจน รวมทั้งเปิดเผยแผนภาพแสดงตำแหน่งความเสี่ยงของกองทุน (risk spectrum) และผู้ขายกองทุนต้องให้คำแนะนำการลงทุนให้เหมาะสมกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของลูกค้า (risk profile)   

นอกจากนี้หลักเกณฑ์ในปัจจุบันได้มีข้อกำหนดที่ช่วยจำกัดไม่ให้กองทุนเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อการลงทุนมากจนเกินไป ด้วยการจำกัดฐานะการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (leverage) ไว้ไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน โดยกองทุนจะต้องมีทรัพย์สินที่มี
คุณภาพและมีสภาพคล่องในจำนวนที่เพียงพอกับภาระการชำระเงินตามสัญญา

*อ้างอิงจาก  http://capital.sec.or.th/webapp/webnews/news.php?cboType=S&lg=th&news_no=10&news_yy=2553    

..............................................................................................................................................................................................

ฉบับที่ 19 / 2553

วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน 2553  

ก.ล.ต. อนุญาตให้นิติบุคคลไทยและต่างประเทศเสนอขาย FX bond ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนทั่วไป   

คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 มีมติเห็นชอบในหลักการให้นิติบุคคลไทยและต่างประเทศสามารถออกและเสนอขายตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ (FX bond) ในประเทศไทยให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนทั่วไปได้ จากปัจจุบันที่อนุญาตให้เฉพาะนิติบุคคลต่างประเทศเสนอขายต่อธนาคารพาณิชย์เท่านั้น

นายธีระชัย  ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การผ่อนคลายดังกล่าวเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางให้แก่ผู้ลงทุนไทยสามารถลงทุนใน FX bond ในประเทศได้ นอกเหนือจากการนำเงินออกไปลงทุนในตราสารดังกล่าวในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนไทยมีโอกาสเรียนรู้และคุ้นเคยกับตราสารที่หลากหลายขึ้น โดยที่ความเสี่ยงจากการลงทุนไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นตราสารต่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ผู้ลงทุนไทยลงทุนภายใต้วงเงินที่จัดสรรอยู่แล้ว  

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์สามารถเข้ามามีบทบาทในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน มีส่วนร่วมในการจัดจำหน่ายตราสารและเป็นผู้ค้าตราสาร หากมีการซื้อขายในตลาดรองในประเทศ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสบการณ์และศักยภาพในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับสถาบันการเงินต่างประเทศ  อีกทั้งหลายประเทศในเอเชีย เช่น มาเลเซีย อินเดีย ฮ่องกง ได้เปิดให้เสนอขาย FX bond ในประเทศของตนแล้ว

นิติบุคคลผู้ออกและเสนอขาย FX bond จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเสนอขายในแนวทางเดียวกับหลักเกณฑ์การเสนอขายตราสารหนี้ในปัจจุบัน กล่าวคือหลักเกณฑ์จะเข้มงวดสำหรับการเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป และหลักเกณฑ์ผ่อนปรนสำหรับการเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน โดยผู้ออกและเสนอขายตราสารดังกล่าวจะต้องเปิดเผยข้อมูลปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ข้อจำกัดของการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น ทั้งนี้ การออกและเสนอขายจะอยู่ภายใต้วงเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

*อ้างอิงจาก  http://capital.sec.or.th/webapp/webnews/news.php?cboType=S&lg=th&news_no=19&news_yy=2553

.............................................................................................................................................................................................

ไม่ว่าคุณจะลงทุนทองคำแท่ง ลงทุนในทองคำ ลงทุนในGold Futures ลงทุนในหุ้น การอบรม เรียนรู้ ศึกษาการลงทุน เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการ บริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุน    

                                                         

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 36,737 Today: 3 PageView/Month: 54

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...